เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
บัณฑิตทั้งหลาย เรียกบุคคลผู้เป็นมุนีทางกาย
เป็นมุนีทางวาจา เป็นมุนีทางใจ ผู้ไม่มีอาสวะ
ว่าเป็นมุนีผู้สมบูรณ์ด้วยโมเนยยธรรม ล้างบาป1 ได้แล้ว2
มุนีผู้ประกอบด้วยโมเนยยธรรม 3 ประการเหล่านี้ มี 6 จำพวก คือ (1) อาคาร
มุนี (2) อนาคารมุนี (3) เสขมุนี (4) อเสขมุนี (5) ปัจเจกมุนี (6) มุนิมุนี3
อาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้ครองเรือน เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว เหล่านี้
ชื่อว่าอาคารมุนี
อนาคารมุนี เป็นอย่างไร
คือ บุคคลผู้เป็นบรรพชิต เห็นทาง(นิพพาน)แล้ว รู้แจ้งหลักคำสอนแล้ว
เหล่านี้ชื่อว่าอนาคารมุนี
พระเสขะ 7 จำพวก ชื่อว่าเสขมุนี
พระอรหันต์ทั้งหลาย ชื่อว่าอเสขมุนี
พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ชื่อว่าปัจเจกมุนี

เชิงอรรถ :
1 ล้างบาป หมายถึงล้างบาปด้วยมัคคญาณ (ขุ.ม.อ. 14/173)
2 ขุ.อิติ. 25/67/282, ขุ.จู. 30/21/77
3 มุนิมุนี พระอรรถกถาจารย์แก้ว่า มุนิมุนโย วุจฺจนฺติ ตถาคตาติ พระตถาคตท่านเรียกว่า มุนิมุนี
เพราะมีความหมาย 8 อย่าง คือ
(1) พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือเสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา
(2) พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือทรงทำลายอวิชชา สละปวงกิเลสเสด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าองค์
ก่อน ๆ
(3) พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือทรงมีญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย
(4) พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจ 4 หรือปฏิจจสมุปบาท
(5) พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น คือทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ทั้งสัตว์โลก
เทพและพรหมได้ประสบและพากันแสวงหา
(6) พระผู้ตรัสอย่างนั้น หรือมีพระวาจาแท้จริงถูกต้องไม่เป็นอย่างอื่น
(7) พระผู้ทำอย่างนั้น คือตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น
(8) พระผู้เป็นยิ่ง คือทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสูด เป็นผู้เห็นถ่องแท้
ทรงอำนาจเป็นราชาที่พระราชาทรงบูชา เป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือ
พรหม ไม่มีใครอาจจะวัดหรือจะทัดเทียมพระองค์ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ
(ขุ.ม.อ. 14/173-181)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :70 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย มหานิทเทส [อัฎฐกวรรค] 2. คุหัฏฐกสุตตนิทเทส
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสเรียกว่ามุนิมุนี
(สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า)
บุคคลโง่เขลาไม่รู้อะไร เพียงแต่นั่งนิ่ง ๆ หาชื่อว่าเป็นมุนีไม่
ส่วนบุคคลผู้ฉลาด เลือกชั่งเอาแต่สิ่งที่ดี ละทิ้งสิ่งที่ชั่ว
เหมือนบุคคลชั่งสิ่งของ จึงจะชื่อว่าเป็นมุนีแท้
ผู้ที่รู้โลกทั้ง 2 ก็เรียกว่า เป็นมุนี (เช่นกัน)1
ผู้รู้ธรรมทั้งของอสัตบุรุษและสัตบุรุษ
ทั้งภายในและภายนอก ในโลกทั้งปวง
เทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้อง2
และตัณหาดุจตาข่าย3ได้แล้ว ชื่อว่ามุนี4
คำว่า ความติด ได้แก่ ความติด 2 อย่าง คือ (1) ความติดด้วยอำนาจตัณหา
(2) ความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ ... นี้ชื่อว่าความติดด้วยอำนาจตัณหา ... นี้ชื่อว่าความ
ติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
มุนีละความติดด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความติดด้วยอำนาจทิฏฐิ
ได้แล้ว ไม่ติด คือ ไม่ติดพัน ไม่เข้าไปติดในความยึดถือทั้งหลาย คือ เป็นผู้ไม่ติดแล้ว
ไม่ติดพันแล้ว ไม่เข้าไปติดแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้ว ไม่เกี่ยวข้อง
แล้ว มีใจเป็นอิสระ(จากความติด)อยู่ รวมความว่า มุนีไม่เข้าไปติดในความยึดถือ
ทั้งหลาย
คำว่า ถอนลูกศรได้แล้ว ไม่ประมาท ประพฤติอยู่ อธิบายว่า

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ธ. 25/268-269/63, ขุ.จู. 30/21/78
2 เครื่องข้อง 7 อย่าง คือโลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และทุจริต
3 ตาข่าย มี 2 อย่างคือตัณหาและทิฏฐิ
4 ขุ.สุ. 25/533/438, ขุ.จู. 30/21/78

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 29 หน้า :71 }